วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556



หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปที่เชื่อถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง จึงมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไปนมัสการอย่างเนืองแน่นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเสาร์ วันอาทิตย์และวันหยุดราชการอื่นๆ ยิ่งในวันเทศกาลสำคัญและงานนักขัตฤกษ์ด้วยแล้ว มีผู้มานมัสการหลวงพ่อนับเป็นจำนวนแสนๆคนเลยทีเดียว นับว่าเป็นงานเฉลิมฉลองทางศาสนาอันโอฬารยิ่งงานหนึ่งในภาคตะวันออกของไทย
                งานเทศกาลหลวงพ่อโสธรนั้น ปีหนึ่งมี ๓ ครั้ง กำหนดทางจันทรคติได้ตามลำดับ คือ
                งานเทศกาลกลางเดือน ๕ ซึ่งถือว่าเป็นงาน “วันเกิด” หลวงพ่อโสธร จัดขึ้นรวม ๓ วัน ๓ คืน ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เทศกาลนี้เรียกได้ว่า มีมาก่อนงานเทศกาลอื่น ถือว่าเป็นงานสมโภชวันคล้ายวันที่อาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากน้ำและอัญเชิญท่านมาประดิษฐานที่วัดโสธร
                ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๕ ชาวแปดริ้วจะแห่หลวงพ่อทางบกไปตามหมู่บ้านใกล้ๆวัด แล้วอัญเชิญองค์ท่านกลับมายังวิหาร ครั้นตกเย็นพระสงฆ์ก็จะเจริญพระพุทธมนต์ ในวันรุ่งขึ้น คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีการทำบุญตักบาตรฉลอง เวียนเทียน และสรงน้ำหลวงพ่อ มหรสพสมโภชประจำคือละครหรือลิเก และงิ้ว ที่น่าสังเกตก็คืองานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อทุกคราว จะมีมหรสพไทยและจีนคู่กันเสมอ ไม่เคยเว้น เพราะถือว่า ประชาชนทั้งชาวไทยและจีนได้ร่วมใจกันอาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากน้ำ
                งานเทศกาลกลางเดือน ๑๒ จัดขึ้น ๕ วัน ๕ คืน ตั้งแต่วันขึ้น ๑๒ ค่ำไปจนถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ งานเทศกาลนี้จัดมาเนิ่นนานกว่าร้อยปีแล้ว คือเริ่มมีขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๓๔
                ผู้ริเริ่มจัดงานกลางเดือน ๑๒ คือโต้โผทรัพย์ เจ้าของละครคลองโสธร มูลเหตุมีอยู่ว่า ในปีนั้น ประชาชนชาวโสธรประสบทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ข้าวและผลหมากรากไม้ไม่ได้ผล โรคห่า(อหิวาต์)และโรคพุพอง(ฝีดาษ)ระบาดไปทั่ว ผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นอันมาก ประชาชนทิ้งบ้านเรือนไร่นาเพื่อหนีโรคภัย ผู้เจ็บป่วยรอไม่ไหวก็รอวันตายเพราะหาหมอรักษาได้ยาก บรรดาคนที่ป่วยเหล่านั้นถึงตนไม่ป่วยเองก็ญาติมิตรป่วย เมื่อถึงคราวเข้าตาจนเช่นนี้ บรรดาพุทธศาสนิกชนจะมีอะไรเป็นที่พึ่งยิ่งไปกว่าพระ ต่างคนจึงพากันบนบานศาลกล่าวต่อหลวงพ่อให้ช่วยลูกช้างด้วย บ้างก็ขอยาดีหลวงพ่อ คือขี้ธูปบ้าง น้ำมนต์บ้าง ดอกไม้ที่บูชาบ้าง รับมาทานมาทา บ้างก็บนบานว่า ถ้าหายแล้วจะปิดทอง บ้างก็บนบานด้วยละครและมหรสพสมโภช คนไทยบนด้วยลิเกและละครแก้บน ฝ่ายจีนก็บนงิ้ว ล่อโก๊ สิงโต ฯลฯ ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเป็นเรื่องมหัศจรรย์ยิ่งนัก จู่ๆฟ้าฝนซึ่งแห้งแล้งอยู่นานก็โปรยปรายลงมา นำพาให้ประชาเบิกบาน แผ่นดินชุ่มชื่น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆหายเป็นปลิดทิ้ง ชาวบ้านชาวเมืองจึงร่วมกับนายทรัพย์จัดงานฉลองสมโภชหลวงพ่อครั้งใหญ่เพื่อแก้บน
                แรกทีเดียว งานเทศกาลในเดือนนี้มี ๓ วัน คือวันขึ้น ๑๔ – ๑๕ ค่ำและวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๙๔ จึงได้จัดเพิ่มอีก ๒ วัน คือวันขึ้น ๑๒ – ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ จึงรวมทั้งสิ้นเป็น ๕ วัน และถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำมีการแห่หลวงพ่อทางบก วันขึ้น ๑๕ ค่ำมีการแห่ทางน้ำ และวันแรม ๑ ค่ำซึ่งเป็นงานวันสุดท้าย มีการเวียนเทียนและสรงน้ำพระ
                ...สำหรับการแห่หลวงพ่อโสธรทางเรือนั้น เดิมทีเดียวไม่มีการแห่หลวงพ่อโสธรทางเรือลงไปถึงตำบลท่าพลับ (โรงสีล่าง) และที่อำเภอบ้านโพธิ์ แต่เนื่องจากนายทรัพย์ผู้เป็นโต้โผละครอาชีพดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “โต้โผทรัพย์” ได้นำละครไปแสดงในที่ต่างๆเมื่อประมาณ ๙๐ ปีมาแล้ว ได้นำละครไปแสดงที่โรงบ่อนท้ายตลาดโรงสีล่าง ตำบลท่าพลับ อำเภอบ้านโพธิ์ ขณะที่ลูกสาวโต้โผทรัพย์กำลังแสดงละครอยู่ ได้มีสมัครพรรคพวกของผู้มีอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น อุ้มลูกสาวโต้โผทรัพย์ไปทั้งที่มีเครื่องละคร โต้โผทรัพย์ไม่มีทางเลือกปฏิบัติเป็นอย่างอื่น นอกจากจะหันเข้าพึ่งบารมีหลวงพ่อโสธร โดยบนบานว่า ถ้าได้ลูกสาวกลับคืนมา จะแห่หลวงพ่อมาสมโภชที่โรงสีล่าง ตำบลท่าพลับ ด้วยบุญญาอภินิหารของหลวงพ่อโสธร ทันตาเห็น โต้โผทรัพย์ก็ได้ลูกสาวกลับคืนมาภายใน ๓ วัน นับแต่นั้นมา ก็ได้มีการแห่หลวงพ่อโสธรทางเรือมาถึงโรงสีล่าง แล้วแห่ต่อไปถึงอำเภอบ้านโพธิ์เป็นประเพณีสืบมาจนบัดนี้...
                งานเทศกาลตรุษจีน จัดตามจันทรคติของจีน คือตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ปีใหม่ (ชิวอิด) ไปจนถึงวันขึ้น ๕ ค่ำ (ชิวโหงว) รวม ๕ วัน ๕ คืน ถ้าเทียบเป็นเดือนไทยก็คือราวเดือนยี่หรือเดือน ๓
                ในเทศกาลตรุษจีนนี้ มีประชาชนชาวจีนไปนมัสการหลวงพ่อมากกว่าปกติ แรกเริ่มทีเดียว ถึงเทศกาลตรุษจีนครั้งใด ชาวจีนจะงานรื่นเริงถวายหลวงพ่อ มีงิ้ว ล่อโก๊ และเชิดสิงโต หัวหน้างานก็ทำหน้าที่ต้อนรับบริการเลี้ยงดูและจัดให้มีโรงทาน ต้มข้าวต้มให้เป็นทานตลอดงาน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่งานนี้งดไปหลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๒ คณะกรรมการจัดงาน มีนายประพันธ์ (หงิน) เจริญรุ่งเรือง เป็นประธานพร้อมด้วยสมาคมชาวจีน พ่อค้า ข้าราชการและประชาชนจึงได้จัดให้มีงานต้อนรับเทศกาลตรุษจีนขึ้นที่วัดโสธรเป็นการเปิดศักราชใหม่ โดยกำหนดให้มีงาน ๕ วัน ๕ คืน มีทั้งการแห่หลวงพ่อโสธรทางบกเพื่อประพรมน้ำพระพุทธมนต์และอวยพรปีใหม่ในวันชิวอิด และจัดแสดงมหรสพทั้งงิ้ว ลิเก และการละเล่นอื่นๆเป็นการสมโภช งานเทศกาลตรุษจีนจึงกลายเป็นงานประจำของหลวงพ่อนับแต่นั้นเป็นต้นมา




ช่วงเวลา

งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อโสธร จัดขึ้นปีละ ๓ ครั้ง โดยกำหนดวันทางจันทรคติตามลำดับ คือ
๑. งานเทศกาลกลางเดือน ๕ ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำจนถึงวันแรก ๑ ค่ำ เดือน ๕ รวม ๓ วัน
๒. งานเทศกาลกลางเดือน ๑๒ ระหว่างวันขึ้น ๑๒-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๕ วัน
๓. งานเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันขึ้น ๑-๕ ค่ำ เดือน ๓ รวม ๓ วัน

ความสำคัญ

หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางไปนมัสการอย่างเนืองแน่นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเทศกาลสำคัญและงานนักขัตฤกษ์ จะมีผู้มานมัสการจำนวนมากกว่าวันปกติทั่วไป

พิธีกรรม

เป็นเดือนไทยก็คือ ราวเดือนยี่หรือเดือนสาม
งานเทศกาลกลางเดือน๕ จัดขึ้นรวม ๓ วัน ๓ คืน นับตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เทศกาลนี้จัดฉลองสมโภชเนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นวันคล้ายวันที่อาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากแม่น้ำ แล้วอัญเชิญท่านมาประดิษฐานที่วัดโสธรวรวิหาร
งานเทศกาลกลางเดือน ๑๒ เทศกาลนี้ได้จัดสืบต่อกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว คือ เริ่มจัดขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยมีมูลเหตุมาจากในปีนั้นประชาชนในท้องถิ่นประสบทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ทำการเพาะปลูกไม่ได้ผล ทั้งยังเกิดโรคอหิวาต์และฝีดาษระบาดทั่วไป ทำให้ผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงคราวเข้าตาจนเช่นนี้ชาวบ้านต่างพากันบนบานศาลกล่าวต่อหลวงพ่อให้ช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยเหล่านี้ ด้วยการปิดทองบ้าง ด้วยมหรสพสมโภชบ้าง และด้วยสิ่งอื่น ๆ กล่าวกันว่าความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่บันดาลให้เกิดฝนโปรยปรายลงมา ทำให้แผ่นดินชุ่มชื้น โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หายเป็นปลิดทิ้ง ชาวบ้านจึงร่วมใจกันจัดงานฉลองสมโภชหลวงพ่อครั้งใหญ่เพื่อแก้บน
แต่เดิมงานเทศกาลในเดือนนี้มี ๓ วัน คือ วันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้จัดเพิ่มขึ้นอีก ๒ วัน คือ วันขึ้น ๑๒-๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒รวมทั้งสิ้นเป็น ๕ วัน และถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำจะมีการแห่หลวงพ่อทางบก วันขึ้น ๑๕ ค่ำ มีการแห่ทางน้ำ และวันแรม ๑ ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายมีการเวียนเทียนและสรงน้ำพระ
งานเทศกาลตรุษจีน จัดตามจันทรคติของจีน คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ปีใหม่ (ชิวอิด) ไปจนถึงวันขึ้น ๕ ค่ำ (ชิวโหงว) รวม ๕ วัน ๕ คืน ถ้าเทียบ

สาระ

การจัดงานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อโสธรนับเป็นกุศโลบายอันแยบยล ที่ดึงพุทธศาสนิกชนให้เข้าวัดผ่อนคลายภารกิจในชีวิตประจำวัน เพื่อกราบไหว้บูชาองค์หลวงพ่อซึ่งเปรียบได้ดังตัวแทนของพุทธองค์ และให้ระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนที่ให้เว้นความชั่วให้ทำแต่ความดี อันส่งผลให้การดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข โดยมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตใจ